googleca9db13d132b9d4f.html 0864407089

6 แนวทาง ลดเสี่ยงอัคคีภัย ในย่านธุรกิจ

    สภาวิศวกร เผยว่า จากเหตุเพลิงไหม้อาคารพาณิชย์ ย่านสำเพ็ง จากข้อมูลการเกิดเหตุและการประเมินสถานการณ์ คาดว่าเกิดจากหม้อแปลงบริเวณหน้าตลาดสำเพ็ง เกิดภาวะขัดข้องจากการมีความร้อนสูงภายในหม้อแปลง จนเกิดการรั่วไหลหรือระบายออกอย่างรวดเร็วของน้ำมันหม้อแปลง ประกอบกับมีประกายไฟเกิดขึ้น ซึ่งน้ำมันหม้อแปลงติดไฟได้จึงเกิดการลุกไหม้รุนแรงขึ้น

   ประกอบกับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่มีการใช้พื้นที่ด้านล่างหม้อแปลงในการค้าขายและเก็บของ และอาคารพาณิชย์บริเวณใกล้เคียงเป็นร้านจัดจำหน่ายและจัดเก็บสินค้าประเภทพลาสติก กระดาษ วัสดุที่มีส่วนผสมของใยสังเคราะห์ ที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีจำนวนมาก ตลอดจนมีก๊าซหุงต้มจากร้านอาหาร และสายไฟฟ้า สายสัญญาณระบบต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญ จึงทำให้เพลิงไหม้ลุกลามไปในหลายคูหา และให้คำแนะนำประชาชน ตระหนักรู้ถึง 6 แนวทางเพื่อลดความเสี่ยงเหตุอัคคีภัยและใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย 


 6 แนวทาง ป้องกันเหตุ "อัคคีภัย"

     ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต ในฐานะ “คณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอัคคีภัย สภาวิศวกร” ส่วนงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบพร้อมหาแนวทางป้องกันเหตุจากอัคคีภัยตามหลักวิศวกรรม จึงมีข้อเสนอแนะถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนได้ตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้น สู่การวางแผนป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงเหตุอัคคีภัยและสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างปลอดภัยใน 6 แนวทาง ดังนี้

1. ตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงอัคคีภัยในอาคารและชุมชน

    ประชาชนทุกคน ผู้ใช้อาคาร เจ้าของอาคาร จะต้อง ตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงอันตรายอัคคีภัยที่มีในอาคาร บ้านเรือนของตนด้วยการ ประเมินความเสี่ยง ค้นหาจุดที่เป็นอันตรายที่จะทำให้เกิดอัคคีภัย และลดความเสี่ยง ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานและใช้งานให้ถูกต้อง ระมัดระวังตรวจสอบแบตเตอรี่ที่ใช้กับอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันหรือใช้เป็นพลังงานสำรองต่างๆ ลดหรือควบคุมปริมาณการจัดเก็บเชื้อเพลิงและสารไวไฟในอาคาร เป็นต้น

   "นอกจากความเสี่ยงที่อยู่ภายในอาคารตนเองแล้ว ยังต้องประเมินความเสี่ยง ในชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบด้วย ซึ่งอาจจะเกิดเพลิงไหม้ อาคารข้างเคียงหรือแม้แต่เกิดที่หน้าอาคารของตนอย่างเช่นกรณีนี้จนทำให้ไม่สามารถอพยพหนีไฟออกไปได้"

2. เว้นระยะห่างจากหม้อแปลงไฟฟ้า

    ตามมาตรฐานงานติดตั้งไฟฟ้า กรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าด้วยการติดตั้งหม้อแปลงฉนวนของเหลวติดไฟได้ ควรมีการปิดกั้นเพื่อป้องกันไฟที่เกิดจากของเหลวหม้อแปลง ลุกลามไปติดอาคารหรือส่วนของอาคารที่ติดไฟได้ ส่วนที่มีไฟฟ้าด้านแรงสูง จะต้องอยู่ห่างจากโครงสร้างอื่นไม่น้อยกว่า 1.80 เมตร เพื่อป้องกันการเหนี่ยวนำของกระแสไฟฟ้าหรือไฟรั่ว ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

   ในกรณีที่หม้อแปลงไฟฟ้าติดตั้งอยู่ในชุมชน จะต้องช่วยกัน ดูแลสังเกตการชำรุดเสียหาย ไม่ตั้งสิ่งของกีดขวาง ลุกล้ำ ติดชิดเสา/รั้วหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อให้มีระยะปลอดภัย และให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าทำการตรวจสอบ บำรุงรักษาได้สะดวก หรือถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถเข้าควบคุมหรือระงับเพลิงได้โดยสะดวกรวดเร็ว

 3. มีทางออกหนีไฟปลอดภัย

   อาคารขนาดเล็กก็ต้องมีทางออกหนีไฟ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกความตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ส่วนที่ 4 “บันไดหนีไฟ” ในข้อที่ 27 ได้ระบุไว้ว่า “อาคารที่สูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปและสูงไม่เกิน 23 เมตร หรืออาคารที่สูง 3 ชั้นและมีดาดฟ้าเหนือขั้นที่ 3 ที่มีพื้นที่เกิน 16 เมตร

   นอกจากมีบันไดของอาคารตามปกติแล้ว ต้องมีบันไดหนีไฟที่ทำด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อย 1 แห่ง และต้องมีทางเดินไปยังบันไดหนีไฟนั้นได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง” และข้อที่ 28 ระบุไว้ว่า “บันไดหนีไฟต้องมีความลาดชันน้อยกว่า 60 องศา เว้นแต่ตึกแถวและบ้านแถวที่สูงไม่เกิน 4 ชั้น ให้มีบันไดหนีไฟที่มีความลาดชันเกิน 60 องศาได้ และต้องมีชานพักบันไดทุกชั้น”

4. หน้าต่างเหล็กดัดแบบเปิดได้

    เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งเส้นทางหนีไฟได้ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้เกิดภายในอาคารบ้านเรือน หรือบริเวณหน้าบ้านจนไม่สามารถเข้าออกได้ปกติ หน้าต่างที่ถูกออกแบบมาในลักษณะที่เปิดได้ นอกจากจะช่วยให้บุคคลในบ้านสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ยังเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าช่วยเหลือบุคคล ตลอดจนระงับเหตุได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

    อ้างอิงตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กฎกระทรวงฉบับที่ 18 พ.ศ. 2530 “ข้อ 21 ทวิ ในกรณีที่มีการติดตั้งลูกกรง เหล็กดัด หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่ประตู หน้าต่าง หรือที่ด้านนอกหรือด้านในของอาคารตั้งแต่ชั้นที่สองขึ้นไป อันเป็นการกีดขวางการหนีออกจากอาคารหรือการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในอาคารเมื่อเกิดอัคคีภัยโดยไม่มีช่องทางอื่นที่จะออกสู่ภายนอกได้ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้ดำเนินการจัดให้มีช่องทางที่เปิดออกสู่ภายนอกได้ทันที ขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 0.60 เมตร ยาวไม่น้อยกว่า 0.80 เมตร อย่างน้อยหนึ่งช่องทางในแต่ละชั้นของอาคารหรือของคูหา”

5. เตรียมพร้อม “อุปกรณ์ป้องกัน”

    เพราะเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ดังนั้น ประชาชนจึงควรเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย ได้แก่ อุปกรณ์ตรวจจับควันแบบมีเสียงดังในตัว (Smoke Alarm) สำหรับบ้านเรือนอาคารขนาดเล็ก หรือเป็นระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้สำหรับอาคารขนาดใหญ่ และติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง เช่น ถังดับเพลิงมือถือ เป็นต้น

6. แผนฉุกเฉินอัคคีภัย

   ในทุกอาคาร บ้านเรือน ชุมชน จะต้องมีแผนฉุกเฉิน "อัคคีภัย" รวมไปถึง มีเบอร์ติดต่อฉุกเฉินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อให้สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือหรือสามารถแจ้งเหตุเพื่อป้องกันการลุกลามได้ และมีการซ้อมแผนฉุกเฉินเป็นประจำทุกปี ฝึกซ้อมการประสานงานกับหน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุน 

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก สภาวิศวกรและกรุงเทพธุรกิจ

สนใจประกันอัคคีภัย

ขอข้อมูลเพิ่มเติม

 

Visitors: 113,288